ราคานํ้ามันร่วงฉุดยอดใช้พุ่ง ภาครัฐงัดมาตรการสกัด/ประหยัดเป็นทางออก

04 มี.ค. 2559 | 05:00 น.
จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงอยู่ในระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลโดยตรงต่อราคาขายปลีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันพบว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดลงต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร ประกอบกับจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยอดใช้น้ำมันเติบโตตามไปด้วย

[caption id="attachment_35202" align="aligncenter" width="455"] ปริมาณการใช้นำมันในเดือนมกราคม 2559 ปริมาณการใช้นำมันในเดือนมกราคม 2559[/caption]

โดยข้อมูลสถิติปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่าความต้องการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินอยู่ที่ 27.40 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 9.34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และดีเซลอยู่ที่ 62.08 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.11%

ขณะที่ยอดใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) ในภาคขนส่ง โดยเฉลี่ยกลับมีความต้องการใช้ลดลง เห็นได้จากยอดใช้แอลพีจีภาคขนส่งในช่วงเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.15 ล้านกิโลกรัม หรือคิดเป็น 128.53 พันตันต่อเดือน ลดลง 4.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนยอดใช้เอ็นจีวีอยู่ที่ 7.85 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลง 7.08%

 งัด 10 มาตรการลดการใช้

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และฐานะโฆษกประจำกระทรวงพลังงาน สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับปีก่อน มีสาเหตุมาจากราคาขายปลีกน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับกลุ่มรถยนต์เบนซินที่เคยใช้แอลพีจีเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มรถยนต์ดีเซล รถบรรทุก ที่เคยใช้เอ็นจีวีก็เปลี่ยนมาใช้น้ำมันเช่นกัน จึงคาดว่ายอดใช้น้ำมันปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้น เห็นได้จากในเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา มีการเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ผลของความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้การดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในปีนี้ จึงต้องมุ่งหรือให้ความสำคัญกับแผนอนุรักษ์พลังงาน ปี 2558-2579 อย่างเข้มข้น ที่จะเข้าไปดำเนินงานใน 10 มาตรการ ได้แก่ 1.ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน 2.ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ 3.ติดฉลากยางรถยนต์ 4.โครงการบริหารจัดการด้านขนส่งและโลจิสติกส์(Logistics and Transportation Management : LTM ) 5.ECO Driving 6.Revolving Fund(ภาคขนส่ง) 7.มาตรการทางการเงิน (ภาคขนส่ง) 8.ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ขนส่ง (มวลชน+น้ำมัน) 9.ระบบโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟรางคู่ และ10.ยานยนต์ไฟฟ้า

โดยเฉพาะโครงการ LTM ที่ทาง สนพ.ได้จับมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ผลักดันให้เกิดขึ้นมา ซึ่งขณะนี้ทาง ส.อ.ท.อยู่ระหว่างรวบรวมสมาชิกผู้ประกอบการกลุ่มโลจิสติกส์จำนวน 200 ราย ที่จะส่งทีมงานเข้าไปให้คำปรึกษาเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นตั้งเป้า 5 ปีแรก จะดำเนินงานกับรถบรรทุก 4 พันคันต่อปี และตั้งแต่ปีที่ 6 รถบรรทุก 8 พันคันต่อปี ซึ่ง LTM จะเพิ่มขึ้นเป็น 74% ของรถบรรทุกทั้งหมดในปี 2579 จะส่งผลประหยัดพลังงานในปีนี้ 50 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ

พร้อมทั้งเร่งผลักดันโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อเส้นภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยลดระยะทางการขนส่งน้ำมันของรถบรรทุก 146 ล้านกิโลเมตรต่อปี ช่วยประหยัดน้ำมันในการขนส่ง 40 ล้านลิตรต่อปี โดยมูลค่าการประหยัดต่อประเทศใน 25 ปี แบ่งเป็น ประหยัดน้ำมัน 4.2 หมื่นล้านบาท ,ประหยัดค่าซ่อมรถบรรทุก 1.9 หมื่นล้านบาท ,ลดก๊าซเรือนกระจก 530 ล้านบาท และลดอุบัติเหตุ 350 ล้านบาท

 เร่งรณรงค์ให้ประหยัด

ขณะที่นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้แสดงความกังวลต่อปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งที่มียอดการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ภาครัฐจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาสกัดแล้วก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยได้มากคือการขอความร่วมมือจากประชาชน ร่วมรณรงค์ประหยัดพลังงานและลดการใช้น้ำมันลงด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนก่อนการเดินทาง การเติมลมยางให้อยู่ในระดับพอดีไม่ให้อ่อนและแข็งเกินไป การขับรถไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การไม่บรรทุกสิ่งของมากเกินความจำเป็น และการตรวจเช็กเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ก็จะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ต้องขอความร่วมมือผู้ใช้รถยนต์รุ่นใหม่ ตรวจสอบเครื่องยนต์ว่าสามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 หรือ อี85 ได้หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมายังมีผู้ใช้รถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่น ยังไม่ได้ทดลองใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 หรือ อี85 ทั้งที่เครื่องยนต์สามารถรองรับได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นผลผลิตจากภาคเกษตรกรรมในประเทศ และลดการนำเข้าน้ำมัน

 ผู้ค้าบริหารงานยากขึ้น

ขณะที่ในฝั่งของผู้ค้าน้ำมัน แม้ว่าจะได้รับผลดีโดยตรงจากยอดขายน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันสูงขึ้นเฉลี่ย 7-10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ตาม แต่การบริหารงานก็มีความลำบากมากขึ้นตามไปด้วย

โดยนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณการใช้น้ำมันในเดือนมกราคม 2559 เทียบกับเดือนธันวาคม 2558 ปรับสูงขึ้น 16% จากปกติเดือนมกราคมจะต่ำกว่าเดือนธันวาคม และถือว่าเป็นยอดการใช้น้ำมันที่สูงขึ้นมาก เนื่องจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะยอดใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้บางจาก ต้องนำเข้าน้ำมันพื้นฐานเพื่อใช้ผสมกับเอทานอล 8-9 พันล้านบาทต่อเดือน ปกติจะผลิตน้ำมันเพื่อผสมแก๊สโซฮอล์95 ในประเทศโดยไม่ต้องนำเข้า ซึ่งถือเป็นภาระให้กับผู้ค้าน้ำมันในเวลานี้

ดังนั้น ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นนี้ ควรจะมีการบริหารงานให้เกิดความสมดุลกับกำลังการผลิตของประเทศที่มีอยู่ ซึ่งการรณรงค์ให้ผู้บริโภคประหยัด ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง เช่นเดียวกับนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เห็นว่า ผู้บริโภคยังใช้น้ำมันในปริมาณที่มากอยู่ ทางออกของประเทศจำเป็นต้องช่วยกันรณรงค์ประหยัดใช้น้ำมันให้มากขึ้น และส่งเสริมการใช้รถขนส่งมวลชน แม้ว่าปตท.จะเป็นบริษัทที่ขายน้ำมัน แต่ก็มีความเป็นห่วงหากการใช้น้ำมันมากเกินไปเช่นกัน

 แนะเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐจะมีมาตรการประหยัดพลังงานที่เข้มข้นแล้วก็ตาม แต่ก็มีความเห็นจากนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมน้ำมัน ได้เสนอแนะแนวทางในระยะสั้นว่า ภาครัฐควรจะนำมาตรการด้านภาษีมาใช้ โดยอาจพิจารณาปรับเพิ่มอัตราเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล อีก 50 สตางค์ต่อลิตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.95 บาทต่อลิตร เทียบกับกลุ่มเบนซินที่ระดับกว่า 5 บาทต่อลิตร แม้ว่าจะไม่ช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักเพิ่มขึ้นมากนัก แต่ช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น

"สาเหตุของการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น มาจากระดับราคาขายปลีกที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งคงไปห้ามไม่ได้ว่าราคาน้ำมันถูกแล้วห้ามใช้ ประกอบกับมีจำนวนรถยนต์เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้ยอดใช้น้ำมันสูงขึ้นด้วย ดังนั้นแนวทางหนึ่งคืออาจเรียกเก็บเงินภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คงไม่ต้องเก็บเพิ่มแล้ว เพราะมีเงินในกองทุนมากพอแล้ว ล่าสุดอยู่ที่กว่า 4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานควรมีมาตรการที่ช่วยส่งเสริมการประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันมากถึง 85% มูลค่า 7-8 แสนบ้านบาทต่อปี หากยังปล่อยให้ยอดใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ต่อไปเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ก็จะยิ่งตกเป็นภาระของประเทศ"นายมนูญ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559