เอกชนตะลึงส่งออกดิ่งหนัก ชี้เหนือกว่าคาดหมาย/‘สุวิทย์’เชื่อแย่แค่เดือนเดียว

01 มี.ค. 2559 | 04:00 น.
เอกชนยอมรับประเดิมส่งออกม.ค.59 ติดลบหนักกว่าที่คิด มูลค่าต่ำสุดรอบ 50 เดือน ระบุปัจจัยหลักจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น จี้ ก.พาณิชย์รุกตลาดชายแดนและCLMV ให้มาก ด้าน "สุวิทย์"คงเป้าส่งออกทั้งปี 5% มั่นใจแย่แค่เดือนเดียว ชี้ขณะนี้การค้าโลกเปลี่ยนจากการค้าสู่ภาคบริการมากขึ้น หลายประเทศเน้นพึ่งพาตนเองลดการนำเข้า ต้องหนุนผู้ประกอบการไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

[caption id="attachment_34309" align="aligncenter" width="446"] การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมกราคม 2559 การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมกราคม 2559[/caption]

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) ให้ความเห็นกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ถึงตัวเลขส่งออกการส่งออกของไทยเดือนมกราคม 2559 ที่ ติดลบ 8.91% หรือมีมูลค่า15,711 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และมูลค่าต่ำสุดในรอบ 50 เดือน(นับแต่ พ.ย.54)ว่า ไม่แปลกใจที่ติดลบ เพราะหากดูตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะพบว่าตลาดสำคัญๆไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือแม้แต่อาเซียนเองยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยยุโรปเองก็ยังมีปัญหาเรื่องสถาบันการเงิน สหรัฐอเมริกาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ยังไม่เข้มแข็ง และมีปัญหาเรื่องสงครามค่าเงินกับจีน ส่วนญี่ปุ่นแม้จะประกาศอัตราดอกเบี้ยติดลบ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น

ขณะที่จีนการส่งออกก็ติดลบ ประเทศในอาเซียนอื่นๆ การส่งออกก็ย่ำแย่พอๆกัน ไม่เว้นแม้แต่สิงคโปร์ส่งผลต่อธุรกิจเดินเรือขนส่งสินค้าที่หดตัวลงเช่นกัน จากผู้บริโภคทั่วโลกลดการใช้จ่าย ผู้ซื้อต้องปรับแผนการสั่งซื้อใหม่คือซื้อเท่าที่จำเป็น ไม่ซื้อไปเก็บสต๊อกมาก ซึ่งเอกชนไทยเองก็รับรู้มาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาที่ยอดการสั่งซื้อไม่คึกคัก

"การที่ตัวเลขส่งออกเดือนแรกของปีนี้ติดลบไม่แปลกใจ แต่ก็ไม่คิดว่าจะติดลบมากถึง 8% เพราะเราเองคาดว่าน่าจะติดลบ 4-5% จากเดือนมกราคมปีที่แล้วติดลบ 4.5% ซึ่งไม่น่าจะสูงไปกว่านี้ เป็นผลจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี ราคาน้ำมันเองก็ลดต่ำลงมาก หลายประเทศพึ่งการส่งออกน้ำมันรายได้ก็ลดลง ส่งผลต่อการสั่งซื้อสินค้าที่ลดลงด้วย สินค้าเกษตรก็ราคาตก ยังดีที่ข้าว ยานยนต์ เครื่องจักรกลยังส่งออกเป็นบวกบ้าง แต่ก็คงไม่ช่วยให้การส่งออกในภาพรวมดีขึ้นมาเท่าที่ควร"

ส่วนการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์และในไตรมาสแรกของปีนี้จะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใด ส่วนหนึ่งคงอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลที่จะออกนโยบายกระตุ้นการส่งออกไปยังตลาด CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม) ที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อยังขยายตัว เช่น การผ่อนปรนผ่อนผันกฎระเบียบต่างๆ รวมไปถึงการค้าชายแดนที่น่าจะยังเติบโตได้ดีในปีนี้

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่าการส่งออกของไทยยังมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก โดยหากเทียบประเทศผู้ส่งออกสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ไทยถือว่ายังมีสถานการณ์ส่งออกที่ดีกว่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และไทยยังรักษาส่วนแบ่งตลาดในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้แสดงให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยไม่ได้ลดลงตามมูลค่าส่งออก

สำหรับการส่งออกในเดือนมกราคม 2559 ที่ยังติดลบต่อเนื่อง มีปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวราคาน้ำมันที่ลดต่ำส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศผู้ผลิตน้ำมันรวมไปถึงราคาสินค้าเกษตรโลกยังอยู่ในภาวะตกต่ำกระทบต่อราคาสินค้าส่งออก

ด้านดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกปี 2559 ไว้ที่ 5%เหมือนเดิม และจะผลักดันให้ถึงเป้าหมาย แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงแย่ ซึ่งการส่งออกในเดือนมกราคมที่ติดลบถึง 8.91% ยังเชื่อว่าสถานการณ์จะแย่เพียงแค่เดือนเดียว เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันการส่งออกบริการมากขึ้น การสนับสนุนนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ การเน้นมูลค่ามากกว่าการส่งออกเชิงปริมาณ

"ในปีนี้กลยุทธ์การส่งออกจะเน้น 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ การขยายการค้ากับ CLMV การเร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก ไปยังเมืองหลักและเมืองรอง และในประเทศ อิหร่าน อินเดีย และรัสเซีย , ส่งเสริมการค้าบริการ ,ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และ4.คือการสร้าง new S- Curve เช่น อุตสาหกรรม ที่ใช้หุ่นยนต์ในการผลิต ,เชื้อเพลิงชีวภาพ และอุตสาหกรรมดิจิตอล"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559