ผลศึกษามูลค่ารถไฟไทย-จีนคืบ จ่อหารือประชุมครั้งที่ 10 / เล็งดึงคอนซัลต์ช่วยเคาะต้นทุน

27 ม.ค. 2559 | 06:00 น.
ร.ฟ.ท. แย้มผลศึกษามูลค่ารถไฟไทย-จีนของฝ่ายไทยเสร็จแล้ว เตรียมดึงบริษัทที่ปรึกษา 3 ราย จากโครงการรถไฟความเร็วสูงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ช่วยเคาะต้นทุนให้แล้วเสร็จในม.ค.นี้ ก่อนชงเข้าหารือประชุมร่วมครั้งที่ 10 ที่จีน

แหล่งข่าวระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาฝ่ายไทยได้ศึกษาเกี่ยวกับประมาณการมูลค่าโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในสัปดาห์หน้าจะส่งมอบผลการศึกษาให้กับร.ฟ.ท. ส่วนของฝ่ายจีนนั้นไม่ทราบแน่ชัด ดังนั้นเพื่อประเมินความชัดเจนเกี่ยวกับมูลค่าโครงการฯก่อนจะนำเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร.ฟ.ท.จะเสนอต่อนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ถึงการแต่งตั้งบริษัทที่ปรึกษา เพื่อกลั่นกรองงบประมาณต้นทุนโครงการฯ ซึ่งประกอบด้วยต้นทุนการก่อสร้าง และต้นทุนระบบไฟฟ้าอาณัติสัญญาณ โดยมี 3 บริษัทคือ 1.กลุ่มบริษัท เอ็ม.เอ.เอ.คอนซัลแตนท์ จำกัด 2.กลุ่มบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และ 3.กลุ่มบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้เคยเป็นที่ปรึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“เบื้องต้นการว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษาได้ให้ทั้ง 3 บริษัท สรุปในส่วนพื้นที่ที่แต่ละบริษัทเคยรับผิดชอบกันมา จากการเปรียบเทียบตามที่ฝ่ายจีนศึกษาออกแบบ หลังจากนั้นคงจะให้ร.ฟ.ท.และ สนข. รับไปดำเนินการสรุปสุดท้ายอีกครั้งช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ ก่อนนำเสนอเข้าสู่การหารือร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 10 ที่จีนต่อไป”

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวถึงต้นทุนโครงการรถไฟไทย-จีนที่เคยมีรายงานข่าวว่าฝ่ายจีนประเมินค่าก่อสร้างสูงกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น หากจะนำไปเปรียบเทียบกับผลการศึกษาเดิมนั้นคงไม่ได้เพราะของเดิมถือว่าเป็นการศึกษาที่ไม่ครบถ้วน ระยะทางไม่ครอบคลุมทั้งหมด ประการสำคัญการศึกษาออกแบบในครั้งใหม่นี้มีความละเอียดรอบคอบ และผลการศึกษาครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด อีกทั้งเส้นทางยังเพิ่มขึ้นจากช่วงแก่งคอยไปยังโซนภาคตะวันออกด้วย

“ผลการศึกษาเดิมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ถือว่ามีเวลาดำเนินการค่อนข้างกระชั้น จึงคิดว่าไม่ครอบคลุม ประกอบกับช่วงนั้นยังไม่มีการออกแบบรายละเอียดเช่นการดำเนินงานครั้งใหม่นี้ที่ลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงแบบเชิงลึกจริงๆ โดยภายในสัปดาห์หน้าจะได้ความชัดเจนเรื่องต้นทุนโครงการก่อสร้าง ต้นทุนระบบไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ ที่จะเห็นภาพรวมชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อจะนำไปหารือร่วมไทย-จีนครั้งที่ 10 ต่อไปโดยจะหารือเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างร่วมกันในโอกาสนี้ด้วย เช่นเดียวกับปัจจัยความเสี่ยงที่แต่ละฝ่ายรับไปดำเนินการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น”

สำหรับสถิติการใช้บริการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟของร.ฟ.ท.แบบเหมาคันในปีงบประมาณ 2554-2558 ข้อมูลจากฝ่ายการพาณิชย์ร.ฟ.ท.ระบุว่าปี 2554 มีปริมาณ 11.08 ล้านตัน ปี 2555 จำนวน 10.96 ล้านตัน ปี 2556 จำนวน 12.01 ล้านตัน ปี 2557 จำนวน 10.94 ล้านตัน และปี 2558 จำนวน 11.05 ล้านตัน

ทั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักคือ คอนเทนเนอร์ ก่อสร้าง พลังงาน และสินค้าอื่นๆ ดังนี้คือ กลุ่มคอนเทนเนอร์ปี 2554 ปริมาณสินค้าจำนวน 7.12 ล้านตัน ปี 2555 จำนวน 7.01 ล้านตัน ปี 2556 จำนวน 7.65 ล้านตัน ปี 2557 จำนวน 7.85 ล้านตัน และปี 2558 จำนวน 7.71 ล้านตัน
กลุ่มก่อสร้าง ปูนซิเมนต์ถุง ปี 2554 จำนวน 0.03 ล้านตัน ปี 2555 จำนวน 0.02 ล้านตัน ปี 2556 จำนวน 0.01 ล้านตัน ปี 2557 ไม่มีการขนส่ง และปี 2558 จำนวน 0.02 ล้านตัน ปูนซิเมนต์ผง ปี 2554 จำนวน 1.10 ล้านตัน ปี 2555 จำนวน 0.09 ล้านตัน ปี 2556 จำนวน 1.11 ล้านตัน ปี 2557 จำนวน 0.66 ล้านตัน ปี 2558 จำนวน 0.74 ล้านตัน

กลุ่มพลังงานก๊าซแอลพีจี ปี 2554 จำนวน 0.82 ล้านตัน ปี 2555 จำนวน 0.81 ล้านตัน ปี 2556 จำนวน 0.78 ล้านตัน ปี 2557 จำนวน 0.80 ล้านตัน ปี 2558 จำนวน 0.83 ล้านตัน น้ำมันดิบ ปี 2554 จำนวน 1.28 ล้านตัน ปี 2555 จำนวน 1.27 ล้านตัน ปี 2556 จำนวน 1.45 ล้านตัน ปี 2557 จำนวน 1.03 ล้านตัน ปี 2558 จำนวน 1.21 ล้านตัน และผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่นๆปี 2554 จำนวน 0.56 ล้านตัน ปี 2555 จำนวน 0.47 ล้านตัน ปี 2556 จำนวน 0.48 ล้านตัน ปี 2557 จำนวน 0.38 ล้านตัน ปี 2558 จำนวน 0.49 ล้านตัน กลุ่มสินค้าอื่นๆ ปี 2554 จำนวน 0.17 ล้านตัน ปี 2555 จำนวน 0.50 ล้านตัน ปี 2556 จำนวน 0.52 ล้านตัน ปี 2557 จำนวน 0.21 ล้านตัน และปี 2558 จำนวน 0.04 ล้านตัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559