ลดผลิตข้าวเหลือ25ล้านตัน ชาวนาพอใจไม่ร้องชดเชย

22 ม.ค. 2559 | 07:30 น.
ผู้ส่งออกเห็นด้วยมาตรการลดพื้นที่ปลูกข้าวเชื่อภัยแล้งปีนี้รุนแรง เร่งพาณิชย์เดินสายโปรโมตข้าวไทยหลังหลายประเทศเลิกซื้อ ขณะพาณิชย์เดินหน้าวางแผนผลิตและทำตลาดข้าวปี 2559/60 ลดพื้นที่ปลูกจาก 30 ล้านตันเหลือ 25 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะที่ชาวนาข้าวชี้ที่ผ่านมารัฐช่วยเต็มที่แล้ว ไม่เรียกร้องเงินช่วยเหมือนสวนยาง

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ข้าวในปีนี้ที่มีความจำเป็นต้องลดพื้นที่และปริมาณการปลูกลงเพราะประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งภาครัฐจะต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรไม่ให้ปลูกข้าวในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะที่ผู้ส่งออกก็จะร่วมกับภาครัฐในการผลักดันการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมาย(9 ล้านตัน)ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศยังให้ความสำคัญกับการนำเข้าข้าวไทย แต่ต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่นและเดินสายเพื่อโปรโมตเพราะบางประเทศก็เลิกซื้อข้าวไทยไปนานแล้ว เช่น อิหร่าน

สำหรับเป้าหมายการผลิตข้าวเปลือกปี 2559/60 ที่คณะทำงานวางแผนการผลิตข้าวครบวงจรร่วมกับเกษตรกร โรงสี และผู้ส่งออกได้เห็นชอบปริมาณการผลิตที่ 25 ล้านตันข้าวเปลือกลดลงจากเดิมที่คาดจะผลิตได้ 30 ล้านตัน หรือลดลง 5 ล้านตัน ในเรื่องนี้ควรมีการปรับลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังซึ่งต้องกำหนดว่าเป็นพื้นที่ใดและจำนวนกี่ไร่

ด้านนางสาวชุติมา บุณยประภัศร กล่าว ภายหลังการประชุมแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ร่วมกับกลุ่มชาวนา และผู้ประกอบการ(18 ม.ค.59) ว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าผลผลิตข้าวในฤดูกาลปี 2559/60 นั้นจะมีการลดพื้นที่ปลูกเหลือ 25 ล้านตันข้าวเปลือก จากเดิม 30 ล้านตัน และราคาก็เป็นไปตามตลาดโลก โดยมีแนวโน้มว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 7.5-8 พันบาทต่อตัน ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นชอบร่วมกันและจากนี้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็จะร่วมมือกันในการหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในแนวทางต่างๆรวมทั้งให้คำแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชหรือมีอาชีพเสริมอย่างอื่นในช่วงที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ ทั้งนี้กระทรวงย้ำว่าต่อจากนี้ไปเกษตรกรจะต้องปลูกพืชที่มีคุณภาพและเป็นไปตามความต้องการของตลาด

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือไปแล้วนั้น เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหรณ์(ธ.ก.ส.)มีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือ 5 โครงการ เช่นโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปีรายละไม่เกิน 8 หมื่นบาทจากเดิมรายละ5หมื่นบาท ไม่เกิน 6 เดือน โครงการประกันข้าวนาปี เป็นต้น หรือของกระทรวงพาณิชย์ เช่น โครงการจัดตลาดนัดข้าวและพืชไร่ มาตรการด้านตลาดต่างประเทศ การส่งเสริมตลาดเก่าเพิ่มเชื่อมโยงตลาดใหม่ ส่งเสริมตลาดเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น

ขณะที่นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ชาวนาเห็นด้วยกับการลดพื้นที่ปลูกข้าวและผลผลิต เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือชาวนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้ ธ.ก.ส.ชดเชยดอกเบี้ย ยกเว้นดอกเบี้ย รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ ที่ช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตให้ ซึ่งชาวนาเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลแม้ว่าไม่ได้มีการให้เงินชดเชยหรือให้ความช่วยเหลือแบบเดียวกับชาวสวนยางพาราก็ตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2559