ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งพรวด เครื่องสำอาง/คอนซูเมอร์ปาดเหงื่อกำไรหาย

21 ม.ค. 2559 | 00:00 น.
ต้นทุนผลิตเครื่องสำอาง-คอนซูเมอร์พุ่งสวนกระแสนํ้ามันและค่าเงินลด ส.ผู้ผลิตเครื่องสำอางไทยชี้ปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ เหตุตลาดแข่งขันสูงส่งผลให้ผู้ประกอบการยอมหัน่ กำไรรักษาฐานลกู ค้าด้านผู้ผลิตสบู่บ่นอุบ หลังราคานํ้ามันปาล์มพุ่งจาก กก.ละ 33 บาทเป็น 45 บาท ส่งผลต้นทุนผลิตสบู่โตพรวด เร่งหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม ขณะที่ “สยามเนเชอรัล” ยํ้าต้องนำเข้าวัตถุดิบราคาแพงแบกรับภาระหนักอึ้ง แนะรัฐส่งเสริมผู้ประกอบการไทยผลิตวัตถุดิบตั้งต้น ป้อนให้กับรายย่อยทดแทนการนำเข้า

นางเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทยและประธานสมาคมเครื่องสำอางแห่งอาเซียน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องสำอาง ประสบปัญหาราคาวัตถุดิบไม่ได้ปรับลดราคาลงตามต้นทุนอื่น และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แม้ต้นทุนราคาน้ำมันลดลง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง รวมถึงต้นทุนอื่นๆ จะปรับลดลง แต่ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสารเคมีและวัตถุดิบ สำหรับการผลิตเครื่องสำอางยังไม่ได้ปรับลดราคาลงแต่อย่างใด ขณะเดียวกันยังมีวัตถุดิบบางรายการปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบที่เป็นไปตามฤดูกาลผลิต เช่น สมุนไพรธรรมชาติ เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเครื่องสำอางยังมีต้นทุนที่สูงและมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก แต่ก็ยังไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นตามได้ เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง หากปรับราคาอาจจะส่งผลให้เสียลูกค้าได้ เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องสำอางจำนวนมาก แนวทางที่ผู้ประกอบการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือ ยอมลดอัตรากำไรลง รวมถึงบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

"ราคาวัตถุดิบสำหรับผลิตเครื่องสำอางมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ไม่มาก น่าจะไม่เกิน 5% เพราะสมุนไพรหรือวัตถุดิบธรรมชาติ ที่นำมาสกัดเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเครื่องสำอางปรับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีผลผลิตออกมาน้อย บางช่วงเกิดปัญหาภัยแล้งบ้าง ปัญหาน้ำท่วมบ้าง ทำให้วัตถุดิบดังกล่าวราคาปรับสูงขึ้น มีบางอย่างที่เคยซื้อกิโลกรัมละ 7 พันบาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 1-1.2 หมื่นบาทก็มี"

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสารเคมีและวัตถุดิบ ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะว่ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐพยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าและมีต้นทุนที่ถูกลง แต่วัตถุดิบภายในประเทศยังไม่เป็นที่ยอมรับ และราคาวัตถุดิบยังมีราคาที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับสินค้านำเข้า เพราะปริมาณการผลิตที่น้อยกว่า อาทิ มัลเบอร์รี่ราคาในประเทศกิโลกรัมละ 4-5 พันบาท ขณะที่นำเข้าจากต่างประเทศราคาเพียงกิโลกรัมละ 2 พันบาท

ด้านนางสิญจ์พธู หาญวรากิตติ์ กรรมการฝ่ายพัฒนาการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท วีเอส 09 ออริจินอล เฮิร์บ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สบู่ผสมสมุนไพรแบรนด์วิภาดา กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาของวัตถุดิบที่นำมาใช้เพื่อการผลิตเครื่องสำอางและสบู่ในส่วนของบริษัท มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตสบู่ ได้ปรับราคาขึ้นจากราคากิโลกรัมละ 33 บาท มาเป็นกิโลกรัมละ 45 บาท และคาดว่าภายในปีนี้อาจมีการปรับขึ้นอีก ซึ่งในส่วนของบริษัทเองได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยการสั่งซื้อวัตถุดิบทุกประเภท โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มในจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีการสั่งซื้อในปริมาณที่ไม่มากนัก นอกจากนี้ยังได้มีการเจรจากับผู้ค้าน้ำมันปาล์มเรื่องต้นทุนราคาที่สั่งซื้อในปริมาณมากขึ้น ซึ่งบางครั้งสามารถยืดหยุ่นราคาได้บ้าง

ขณะที่ในส่วนของวัตถุดิบอื่นๆ เช่น สมุนไพรที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมของสบู่แต่ละประเภทมีการปรับราคาขึ้นเล็กน้อย ซึ่งจากนโยบายของบริษัทก็มีการคัดเลือกการวัตถุที่มีที่มีคุณภาพสูง จึงทำให้ราคาแพงกว่าวัตถุดิบทั่วไป ที่ราคาอาจถูกกว่า แต่อาจไม่มีคุณภาพที่ดีและไม่สามารถนำมาใช้ในกระบวนการผลิตสบู่ได้ เช่น น้ำผึ้ง จะต้องเป็นน้ำผึ้ง 100% ทำให้ต้องมีการจัดสรรและบริหารจัดการการซื้อวัตถุดิบให้รัดกุมขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นผลกระทบในเรื่องของราคาจำหน่าย

ทั้งนี้ในส่วนของการปรับขึ้นราคาสินค้าจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นนั้น เบื้องต้นบริษัทยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างใด เพื่อไม่เป็นการผลักภาระให้แก่ผู้บริโภคในสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะหากมีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายสินค้า จะส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายอย่างแน่นอน จึงต้องตรึงราคาจำหน่ายไว้ก่อน แล้วหันมาปรับกลยุทธ์ด้านอื่นๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น การสั่งซื้อวัตถุดิบในปริมาณมากที่สามารถต่อรองราคากับซัพพลายเออร์ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วยังได้มีการปรับทิศทางในการกระตุ้นยอดจำหน่ายผ่านช่องทางอื่นแทนการขึ้นราคา เช่น การรับผลิตสบู่ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นที่ยังไม่มีโรงงาน หรือ OEM ทำให้บริษัทสามารถจำหน่ายสบู่ได้ในปริมาณมากและรวดเร็วกว่าการจำหน่ายปลีกทั่วไป และไม่มีต้นทุนในการทำการตลาดด้านอื่นๆ เนื่องจากเป็นหน้าที่เจ้าของแบรนด์ต้องรับผิดชอบ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันยังมีนโยบายในการเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่าย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างกว้างขึ้น นอกจากจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว ยังมีจำหน่ายที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และในเร็วนี้จะมีวางจำหน่ายในห้างแม็กซ์แวลู

"เชื่อว่าธุรกิจที่ปรับราคาขึ้นในช่วงปีนี้อาจจะได้รับผลกระทบต่อยอดขายอย่างแน่นอน บริษัทจึงต้องให้ความสำคัญกับการแสวงหารายได้จากช่องทางอื่น โดยไม่ปรับราคาขายสบู่แต่อย่างใด ขณะที่ผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการปรับราคาสินค้าในช่วงที่ต้นทุนสูงขึ้น อาจต้องมีการรวมตัวกันหรือจับมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างข้อต่อรองด้านราคาวัตถุดิบ หรือร่วมกันซื้อล็อตใหญ่เพื่อได้ราคาที่ประหยัดกว่าการซื้อในปริมาณน้อย"

ขณะที่ดร.ธนธรรศ สนธีระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเนเชอรัล โปรดักซ์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า ภายใต้ชื่อ Snowgirl , Missseoul และ Naturerich กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันวัตถุดิบที่ใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการผลิตเครื่องสำอางและสินค้าอุปโภค บริโภคหลายประเภทต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาที่แพงและมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ก็เช่นกันที่พบว่าต้นทุนวัตถุดิบนำเข้ามีการปรับขึ้นราคา 5-10% ซึ่งแม้ต้นทุนจะสูงขึ้น แต่บริษัทก็ไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในธุรกิจ อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการจึงต้องเน้นการควบคุมต้นทุนการผลิตให้ดี เพื่อให้สามารถแบกรับและแข่งขันในตลาดได้

"สินค้าแต่ละประเภทจะต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 50-60% ซึ่งบางประเภทใช้มากถึง 70% ก็มี ขณะที่วัตถุดิบบางประเภทมีในประเทศ แต่ไม่มีผู้พัฒนาให้มีคุณภาพสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักแทนการนำเข้าได้ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐจึงควรเข้ามาสนับสนุน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ที่ส่วนมากเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย แทนการนำเข้าวัตถุดิบที่มีราคาสูง"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2559