รัฐ-เอกชนรวมพลังโชว์อียู ลั่นสกัดค้ามนุษย์-แก้ประมงผิดกฎหมายรับตรวจปลดใบเหลือง

20 ม.ค. 2559 | 09:00 น.
2 เวทีใหญ่ กกร.-34 หน่วยงานรัฐ-เอกชน ผนึก ศปมผ.รวมพลังสกัดค้ามนุษย์-แก้ประมงผิดกฎหมาย พร้อมรับอียูตรวจประเมินปลดใบเหลืองไอยูยู 18-23 ม.ค.นี้ "พจน์" ฮึ่มใครนอกแถว หลุดจากสมาชิกทันที บิ๊ก ศปมผ.ลั่นเดินหน้าระบบตรวจสอบย้อนกลับต้นทางถึงปลายทาง ต้องโปร่งใส เตรียมรายงานความก้าวหน้าด้านแรงงานให้อียูรับทราบข้อตกลงนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ

นายมงคล สุขเจริญคณา รองประธานกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทางคณะกรรมาธิการจากสหภาพยุโรป (อียู) จะเดินทางมาตรวจประเมินผลงานการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู ฟิชชิ่ง)ระหว่างวันที่ 18-23 มกราคมนี้ ขณะที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยได้แสดงพลังความรู้พร้อม โดยในวันที่ 15 มกราคม 2559 มี 2 เวทีใหญ่ โดยช่วงเช้าเป็นคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกับสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย 8 สมาคม ได้ให้ปฏิญาณร่วมกันในการผลิตสินค้าประมงในห่วงโซ่อย่างถูกต้อง ยั่งยืน ปราศจากการใช้แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการเอาเปรียบแรงงาน

ส่วนเวทีบ่าย เป็นการลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ 12 หน่วยงานที่อยู่ในชุดคณะทำงานของ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และผู้ประกอบการ รวม 34 หน่วยงาน และให้กลุ่ม 3 องค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) ร่วมเป็นสักขีพยาน อาทิ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น โดยมีลงนามการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการไม่ซื้อ นำเข้า ส่งออก นำผ่าน จำหน่าย ซึ่งสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมาย การใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ มาผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ และจัดจำหน่ายเป็นสินค้าอาหารทะเล

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ กกร. กล่าวว่า ปัญหาของธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศไทย สะสมมาเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะการใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ส่งผลให้สหรัฐฯ ประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชี Tier 3 และสหภาพยุโรปให้ใบเหลือง (IUU Fishing) ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลสด แปรรูป รวมทั้งห่วงโซ่การผลิตของหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการ ยังคงมีความมุ่งมั่นบูรณาการเชิงรุกร่วมกับรัฐบาล ในการสนับสนุน และมุ่งมั่นให้ประเทศไทยมีทรัพยากรทางทะเลที่มั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยต่อนานาประเทศ

ด้านดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวยืนยันในวัตถุดิบที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมายเข้ามาปะปนในห่วงโซ่การผลิตของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการประมง สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (traceability) ไม่มีแรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการเอาเปรียบแรงงาน โดยแต่ละองค์กรได้ดำเนินการ ประกาศนโยบายและขับเคลื่อนสนับสนุนสมาคมการค้าที่เป็นสมาชิกให้ดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย นโยบาย และคำสั่งปฏิบัติของรัฐบาล ซึ่งแต่ละสมาคมได้ประกาศจุดยืนและนโยบายให้สมาชิกดำเนินธุรกรรมให้ถูกต้องตาม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และไม่ซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำจากเรือ หรือแหล่งที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการปนเปื้อน IUU Fishing หรือมีปัญหาด้านแรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน หากพบมีการปฏิบัติไม่ถูกต้อง จะขับออกจากการเป็นสมาชิกทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกรรมในการส่งออกได้นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization : ILO) และกระทรวงแรงงานในการจัดทำและให้ความรู้เรื่องแนวทางการปฏิบัติที่ดีด้านแรงงาน (Good Labor Practices) ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน แหล่งข่าวจากที่ประชุม ศปมผ.(14 ม.ค. 59 ) ที่มี พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานประชุม เปิดเผยว่า ทางศูนย์ ได้มีการเตรียมรายงานความก้าวหน้าที่คณะอียูจะมาประเมิน อาทิ ความก้าวหน้าการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย/ค้ามนุษย์ การออกกฎหมาย เพื่อให้สมุดคู่มือประจำเรือ/อาชญาบัตร มีผลบังคับใช้ และการเชื่อมโยงตรวจสอบย้อนกลับ และปัญหาด้านแรงงาน มั่นใจว่าแย่สุดจะได้แค่ใบเหลืองต่อ เพราะมาตรการดังกล่าวนี้ออกมาทั้งหมดเหลือแค่การบังคับใช้เท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559