ผลกระทบวิกฤติหยวนค้าขายจีน-บริหารบาท ‘ยากขึ้น’

12 ม.ค. 2559 | 03:00 น.
ทันทีที่ธนาคารประชาชนจีน(PBOC) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559 ปรับลดอัตราอ้างอิงของสกุลเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้ลงมาอยู่ที่ 6.50 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากขึ้น กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินโลก เห็นได้จากตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนักติดต่อกัน จากความวิตกต่อความผันผวนของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้

กับความผันผวนในตลาดเงินโลกดังกล่าว "ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน ถึงท่าทีการบริหารค่าเงินหยวนของจีน รวมถึงทิศทางการผันผวนของค่าเงินที่มีอิทธิพลต่อตลาดโลก อีกทั้งความเป็นไปของการค้าที่จีนอยู่ในบทบาทมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯอเมริกา และมีบทบาททางการค้ากับตลาดอาเซียนหรือตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง

 จีนลดค่าหยวนยืดหยุ่นมากขึ้น

อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ฉายภาพให้เห็นว่า การลดค่าเงินหยวนครั้งนี้ กำลังบ่งบอกว่าจีนจะใช้ค่าเงินหยวนที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น และถ้าติดตามนโยบายของจีนจะเห็นว่า ตั้งแต่ก่อนสิ้นปี2558( 11 ธ.ค.58) จีนออกมาประกาศนโยบายว่า จะอิงค่าเงินหยวนกับเงินตรา 13 สกุลหลัก ไม่ใช่อิงกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว แต่จะอิงกับเงินตราสกุลหลักต่างๆเช่น เงินปอนด์ ยูโร เยน และอีกหลายๆสกุล โดยยึดหลักตามประเทศที่จีนค้าขายด้วยจำนวนมาก เพราะถ้าไปอิงกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว เงินดอลลาร์สหรัฐฯจะมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้จีนมีปัญหา เพราะค่าเงินหยวนต้องแข็งค่าตาม และเวลาที่จีนจะปรับลดค่าเงินหยวนลงมาเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลง จะเห็นว่าเมื่อปีที่แล้วเงินหยวนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง 3-4% แต่เทียบกับเงินตราสกุลอื่นๆแข็งค่าเกือบ 1%

นับจากนี้ไปจีนจะใช้ประเทศคู่ค้าเป็นตัวกำหนดค่าเงิน เพราะถ้าค่าเงินหยวนแข็งค่าเกินไปก็จะเสียเปรียบ จะส่งออกยากขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียเปรียบจีนต้องยืดหยุ่นค่าเงินมากขึ้น และจีนจะต้องดูความเคลื่อนไหวสกุลเงินจากประเทศคู่ค้าที่จีนค้าขายด้วยว่าขึ้นลงเท่าไหร่ เคลื่อนไหวอย่างไร และมองว่าสุดท้ายแล้วจีนจะต้องลอยตัวค่าเงินหยวน แต่เกิดขึ้นเมื่อใดยังไม่รู้ เพราะการที่ไปทำให้เงินหยวนนิ่ง ความจริงแล้วทำให้จีนเสียเปรียบ กลายเป็นเป้า ชาติไหนที่ไปฟิกซ์ค่าเงินชาตินั้นเสียเปรียบแน่นอน เพราะจะทำให้เกิดการเก็งกำไรได้ง่ายขึ้น คู่แข่งเข้ามาเก็งกำไรก็ไม่ต้องไปซื้อเรื่องการบริหารความเสี่ยงเลย จีนต้องหาทางทำให้ค่าเงินหยวนยืดหยุ่นมากขึ้น โดยไปอิงกับตะกร้าเงินใหม่ 13 สกุล

 เหตุผล2ข้อทำหยวนอ่อนค่าลงอีก

เวลานี้(7 ม.ค.59)ค่าเงินหยวนอ่อนค่าอยู่ที่ 6.58 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 ปีครึ่ง และจากนี้ไปมีทิศทางเป็นไปได้สูงที่จะอ่อนค่าลงอีก บางสำนักบอกอาจจะอ่อนค่าถึง 7.3 หยวน ด้วยเหตุผลหลัก 2 ข้อคือ 1.จีนอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ 2.จีนอาจปรับลดการถือเงินสดสำรองตามกฎหมายจากที่เวลาที่คนนำเงินไปฝากแบงก์จะต้องเก็บไว้ 17.5% ก็อาจปรับลงเหลือ16% หรือ15% อาจจะลงไปเรื่อยๆจนเหลือตัวเลขหลักเดียว จะลดลงได้อีกหลายครั้ง เพราะประเทศอื่นๆถือเงินสดสำรองไม่ถึง10% แต่ที่ผ่านมาจีนให้สถาบันการเงินถือไว้เยอะมาก

หากย้อนไปเมื่อครั้งที่ค่าหยวนอ่อนค่ามากๆ เมื่อ10 ปีที่แล้วที่อ่อนค่าอยู่ในระดับ 8.3 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือก่อนปี 2005 อยู่ที่ 8.2-8.3 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเงินหยวน อยู่ในสถานการณ์ที่ดีต่อจีนทำให้ส่งออกง่ายขึ้น และมีทุนทั่วโลกออกมาลงทุนในจีนมากขึ้น คนอยากเข้าไปลงทุน เพราะนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯไปลงทุนได้กว่า 8 หยวน ตอนนี้ค่าเงินเหลือเพียงกว่า 6 หยวน เช่นเดียวกับการส่งออกของจีนก็ได้กว่า 8หยวน ตอนนี้ได้แค่กว่า 6 หยวนเท่านั้น พอจีนมีปัญหาเรื่องส่งออกก็ต้องไปลดดอกเบี้ย ลดการถือเงินสดสำรอง เท่ากับว่าปล่อยเงินหยวนออกมามากๆ พอปล่อยออกมาแล้วอุปทานเงินหยวนก็จะมาก ซัพพลายเงินหยวนก็จะมาก ของมากก็ต้องมีราคาถูก และคนจีนเองก็นำเงินหยวนเหล่านี้ไปแลกดอลลาร์สหรัฐฯ ไปลงทุนในดอลลาร์มากขึ้น ลงทุนในอเมริกามากขึ้น

 ผลที่เกิดขึ้นกับไทยค่าบาทไม่นิ่ง

เมื่อมองกลับมายังประเทศไทยผลที่เกิดขึ้นหลังเงินหยวนอ่อนค่า ประการแรกจะทำให้ไทยค้าขายกับจีนได้ยากขึ้น เราจะบริหารค่าเงินบาทได้ยากขึ้น ถ้าบาทไม่อ่อนค่าตาม จะเสียเปรียบในแง่ส่งออก จะลำบากเพราะแข่งขันไม่ได้ ประการที่ 2 ปีนี้เราเจอศึก 2 ด้านคือนอกจากส่งออกยังฟื้นตัวยากแล้ว ดูจากที่ติดลบ 3 ปีซ้อน(ปี 2556-2558) และเรายังเจอความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก ค่าเงินบาทจะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เช่น จะต้องอ่อนค่าลงตามเงินสกุลอื่น ที่จะได้เห็นต่อไปคือค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงตามเงินหยวน อ่อนค่าลงตามเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงตามเงินเยน รวมถึงอ่อนค่าตามเงินสกุลต่างในอาเซียนที่เราค้าขายด้วยกัน ฉะนั้นแค่เราเจอศึกเด้งเดียวก็แย่แล้ว พอมาเจอศึก 2 เด้งยิ่งหนักไปใหญ่

อย่างไรก็ตามถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวค่าหยวนต้องอ่อนค่าลงตาม และเวลานี้ทุนสำรองดอลลาร์สหรัฐฯในจีนตั้งแต่ปลายปี 2014-2015 หายไปแล้ว 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 4 เท่าของทุนสำรองทั้งหมดของไทยที่มีอยู่ทั้งประเทศราว 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2014 จีนเคยมีทุนสำรองมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พอมาปลายปี 2015 ลดลงเหลือ 3.43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(หายไปกว่า 6แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

" ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงในขณะนี้เป็นการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้จีนเสียเปรียบด้านเศรษฐกิจในเวทีโลก ซึ่งตรงนี้ประเทศคู่ค้าจีนอาจไม่สบายใจ ก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะประเทศไทยจะต้องปรับตัวเองให้คล่องตัวขึ้น รุกและรับอย่างมีจังหวะและรวดเร็ว เราต้องต่อยมวยสากล อย่าต่อยมวยไทย เพราะไหว้ครูนานถึง10 นาที ขึ้นไปต่อย เพียง 5 นาทีถูกน็อกแล้ว"รศ.ดร.สมภพ

 มีโอกาสเกิดสงครามค่าเงิน

รศ.ดร.สมภพ ให้มุมมองว่าการค้าขายกับจีน ต้องรู้เท่าทัน ตื่นตัวและเตรียมตัว แต่อย่าตื่นตูม เพราะถ้าค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงไปอีก สิ่งที่จะตามมาคือการส่งออกของไทยกับทุกประเทศจะรวนจากค่าเงินที่ผันผวน เพราะทุกครั้งที่ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น เงินหยวนจะอ่อนค่า และจะทำให้เงินสกุลอื่นๆผันผวนตาม และโอกาสเกิดสงครามค่าเงินได้ง่ายขึ้น คือมีการลดค่าเงินแข่งกัน

 โยงไทยลากยาวถึงอาเซียน

ทั้งนี้ถ้าเกิดภาวการณ์เศรษฐกิจแบบที่กล่าวมาข้างต้นนี้โดยที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯกับค่าเงินหยวนไปคนละทาง ก็จะทำให้ศักยภาพตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ลดลงด้วย เพราะทั้งอาเซียนค้าขายกับจีนสัดส่วนที่มาก ดังนั้นภาพเออีซีที่เรามองว่าจะเป็นบวกมากขึ้นก็จะน้อยลง เพราะเออีซีจะขับเคลื่อนได้ดีเศรษฐกิจต้องขาขึ้นด้วย รวมทั้งมีโอกาสร่วมมือกันสูงในประเทศสมาชิก และทุกประเทศในกลุ่มก็มีโอกาสค้าขายกับจีนมากทั้งนำเข้าและส่งออก แต่พอเศรษฐกิจขาลงก็ต้องตัวใคร ตัวมัน

"เวลานี้มูลค่าการค้าจีนกับอาเซียนสูงถึง 4.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เป็นอันดับ3 ของโลก จีนค้าขายกับอเมริกาเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นยุโรป และค้าขายกับอาเซียนเป็นอันดับ3 เมื่อการค้าจีนกับอาเซียนมีปัญหา ก็จะทำให้ไทยส่งออกไปอาเซียนยากขึ้นด้วย เพราะอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออก 26% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกันไทยส่งออกไปญี่ปุ่นยากขึ้นด้วย เพราะที่ผ่านมาญี่ปุ่นค้าขายกับจีนมาก โดยนำเข้าจากไทย เพื่อส่งออกไปจีนจำนวนมาก เฉพาะประเทศญี่ปุ่นค้าขายกับจีนมูลค่าสูงถึง 3.10 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะเห็นว่าพอจีนมีปัญหาเศรษฐกิจจะไม่กระทบกับจีนอย่างเดียว แต่จะได้รับผลกระทบแบบงูกินหางไปทั่วโลก"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10-13 มกราคม พ.ศ. 2559