กรีนบัสระดมทุนตลาดหุ้น ขยายเส้นทางการเดินรถรอบประเทศรับเออีซี

11 ม.ค. 2559 | 09:00 น.
"กรีนบัส" บิ๊กเดินรถประจำทางภาคเหนือ เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยายเส้นทางให้บริการไปเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ รับการเปิดเออีซี คาดระดมทุนราวพันล้าน ตั้งเป้าเข้าตลาดหุ้นในปี 60 หลังซุ่มคิกออฟเตรียมความพร้อมมานาน แนะรัฐเร่งเจรจาเพื่อนบ้านเรื่องกฎระเบียบต่างๆที่ใช้ร่วมกัน

นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด ผู้ให้บริการด้านการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถโดยสารประจำทาง(กรีนบัส) ครอบคลุมพื้นที่ทั้งภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, น่าน, พะเยา และตาก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ทางกรีนบัสได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในการขยายเส้นทางให้บริการไปในกลุ่มเออีซี โดยมีแผนที่จะเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำเงินมาลงทุนในการขยายเส้นทางบริการดังกล่าว

"ตอนนี้เราได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา FA(finance & accounting) เข้ามาวางแผนเรื่องของระบบทางด้านการเงิน บัญชี และระบบการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ ให้มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นไปตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเราคิกออฟมาตั้งแต่ปี 2557 และคาดว่าจะทำการ Filing ในไตรมาส 2 ปี 2560 ให้ได้ นั่นคือ เป้าหมายของกรีนบัส"

นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า คาดว่าจะระดมทุนประมาณ 700-1,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการสร้างการเติบโตในเรื่องของเส้นทางที่อยู่ระหว่างประเทศโดยรอบของประเทศไทย โดยเฉพาะเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ นี่คือกลุ่มเป้าหมายของกรีนบัส รวมถึงการลงทุนเรื่องของรถโดยสาร ที่สามารถอำนวยความสะดวกในการบริการ และมาตรฐานด้านความปลอดภัย

ปัจจุบันนี้กรีนบัสเดินรถอยู่เกือบ 30 เส้นทางที่ทางกรมการขนส่งทางบกได้ให้กรีนบัสได้รับใบอนุญาต และเปิดบริการมาร่วม 51 ปี จึงเชื่อว่ากรีนบัสค่อนข้างที่จะเป็นมืออาชีพระดับหนึ่ง และสามารถที่จะสร้างการเติบโตเรื่องของการขนส่งของผู้โดยสารได้ค่อนข้างที่ดีและได้มาตรฐาน

"กรีนบัสมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง แล้วกระจายไปภาคเหนือตอนบนทั้งหมด และจากภาคเหนือลงไปทางภาคกลาง ภาคเหนือลงไปทางภาคใต้ ภาคเหนือไปทางภาคอีสาน ภาคใต้ คือ ภูเก็ต มีการร่วมทุนกับกลุ่มผู้ประกอบการภาคใต้ เดินรถจากภาคเหนือลงไปภาคใต้ ภาคอีสาน จากเชียงรายไปที่ขอนแก่น อุดธานี หนองคาย และบึงกาฬ กรุงเทพฯ จากกรุงเทพฯขึ้นมาที่เชียงใหม่ เชียงราย แม่สาย เชียงของ ตอนนี้ใช้รถอยู่ประมาณ 120 คัน วิ่งให้บริการอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านกิโลเมตร/ปี คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการในปี 2559 ประมาณ 2.5 ล้านคน"

ด้านผลการดำเนินธุรกิจใน 2 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยดี ปี 2556-2557 ถดถอยลงมาประมาณ 3% ปี 2557-2558 ถดถอยลงมาอีกประมาณ 3% แต่คาดว่าในปี 2559 จะเติบโตขึ้นมาประมาณ 2% จากการที่รัฐบาลได้มีมาตรการในเรื่องของงบประมาณลงมาในระดับรากหญ้า ซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจได้หมุนเวียนกันอีกรอบหนึ่ง และการเดินทางค้าขาย การท่องเที่ยว ก็จะดีขึ้น เช่น ในช่วงปีที่ผ่านมา แนวโน้มของนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกลุ่มแบ็กแพ็ก และใช้ระบบขนส่งสาธารณะมีจำนวนมากขึ้น มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

"การเข้าสู่เออีซี การเข้าไปทำธุรกิจ วิ่งรถระหว่างกันกับสปป.ลาว เรียกว่า เป็นแบบโค้ดแชร์ เช่น จากเชียงใหม่ สามารถที่จะขายตั๋วไปถึงคุนหมิงได้เลย คือลูกค้าจะต้องนั่งรถประมาณ 3 ต่อ นั่งจากเชียงใหม่ จากกรุงเทพฯ หรือจากภูเก็ตไปที่เชียงราย แล้วทางลาวก็จะมีรถจากเชียงราย ซึ่งเป็นรถระหว่างประเทศไปที่บ่อแก้ว จากบ่อแก้วก็จะมีรถจากจีนที่ออกจากบ่อแก้วไปที่คุนหมิง ไปถึงคุนหมิง นี่คือการทำธุรกิจร่วมกันในกลุ่มเออีซี ตอนนี้ที่เราทำอยู่ที่ลาว"

นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า เมียนมา เป็นอีกหนึ่งประเทศที่จะทำ จากอำเภอแม่สอดต่อรถไปที่เมาะลำไย หรือที่ย่างกุ้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ยังไม่สามารถที่จะกำหนดได้ว่าเมื่อไร เพราะว่าเมียนมาจะยากตรงที่เวลาติดต่อสื่อสารกัน และวัฒนธรรมในการทำธุรกิจ จะต่างจากสปป.ลาวค่อนข้างมากๆ ฉะนั้นต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก

"การขนส่งที่สามารถกำหนดเส้นทางรถโดยสารประจำทางร่วมกันได้ มีแค่สปป.ลาวและกัมพูชา ฉะนั้นการขนส่งไม่ว่าทางด้านผู้โดยสารหรือทางด้านสินค้าก็ยังคล่องตัวได้แค่ 2 ประเทศหลักๆ มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็ยังไม่มีท่าทีหรือไม่มีสัญญาณที่จะออกมาว่า เราจะเข้าไปได้มากน้อยแค่ไหน พิกัด หรือน้ำหนัก สเปกรถต่างๆที่ต้องร่างร่วมกัน มาตรฐานเรื่องของผู้ขับขี่ที่จะต้องรู้กฎหมายร่วมกัน ก็ยังเดินได้ที่ค่อนข้างที่จะช้าอยู่"

โดยเฉพาะเมียนมาที่กำลังเปิดตัวอยู่ เพราะฉะนั้นต้องเริ่มที่จะเข้าไปหรือภาครัฐต้องเริ่มเข้าไปเจรจาในเรื่องของกฎระเบียบต่างๆแล้ว ตอนนี้ทุกอย่างอยู่ในตลาดเสรีแล้ว เพราะฉะนั้นการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงมีทุกวัน ภาครัฐจะต้องมองเห็นในเรื่องเหล่านี้ ถ้าเกิดทางภาครัฐยังล่าช้าอยู่ จะกลายเป็นอุปสรรคกับทางภาคเอกชนในการที่จะสร้างความเจริญเติบโตหรือการนำไปสู่เป้าหมายของเออีซีที่จะต้องมีการทำฐานผลิตร่วมกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2559