ไทยเปิดเกมชิงตลาดAEC รัฐ-เอกชนโชว์แผนรุก/พาณิชย์โหม14แฟร์ใหญ่

07 ม.ค. 2559 | 02:00 น.
เปิดแผนรัฐ-เอกชนไทยรุกตลาดอาเซียน หลังเปิด AEC เต็มรูปแบบ พาณิชย์ โชว์แผน จัด 14 งานแฟร์ 7 ประเทศ เอกชนเตรียมแผนบุกตลาดรับอานิสงส์ “วี-เซิร์ฟ กรุ๊ป” โลจิสติกส์บุกตั้งสถานีเครือข่ายที่มาเลย์ พร้อมใช้อรัญฯลุยถึงพนมเปญ กลุ่มการ์เมนต์ โรดโชว์เดือนเว้นเดือน ยักษ์แพรนด้า จิวเวลรี่ จี้พันธมิตรขยายสาขา ฝั่งระนองคึกคักพี่บิ๊กโมเดิร์นเทรดแห่ปักฐาน เชียงรายฉวยจังหวะผนึกเมียนมาขยายท่องเที่ยว

จากที่อาเซียน 10 ประเทศประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไนกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ได้เปิดประชาคมเศรษฐกิจ(AEC) ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งของประชาคมอาเซียน (AC) อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 "ฐานเศรษฐกิจ"ฉบับนี้ตรวจสอบแผนรุกตลาดเออีซีของภาครัฐและเอกชนไทยในปี 2559 ว่าจะมีความคึกคักมากน้อยเพียงใด

พาณิชย์เตรียมจัด14 แฟร์ใหญ่

ต่อเรื่องนี้นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์(พณ.)เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนหรือเออีซีในปี 2559 ขยายตัวที่ 6 % ทางกรมได้เตรียมแผนงาน/กิจกรรมที่สำคัญเพื่อขับเคลื่อนสู่เออีซี ที่สำคัญได้แก่ การเตรียมจัดงานแสดงสินค้าไทย (Thailand Week/ Mini Thailand Week) รวม 14 งานในเมืองเศรษฐกิจสำคัญในอาเซียน 7 ประเทศ และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในอาเซียน 1 งาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็อีของไทยในการจับคู่กับพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้นำเข้าในอาเซียน รวมถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้า/บริการไทย

สำหรับงานที่กล่าวข้าวต้น ประกอบด้วย งาน Thailand Week ที่เกาะกง ของกัมพูชา, Thailand Week ที่เมืองมัณฑะเลย์ ของเมียนมา, Mini Thailand Week ที่เซบู,ดาเวา ของฟิลิปปินส์, Thailand Week ไฮฟอง เวียดนาม, Mini Thailand Week สลังงอ มาเลเซีย ,Thailand Week พระสีหนุ,เสียมราฐ กัมพูชา, Mini Thailand Week หลวงพระบาง,สะหวันเขต,จำปาสัก สปป.ลาว, Mini Thailand Week ตองยี เมียนมา, Thailand Week เกิ่นเทอ,ฮานอย เวียดนาม, Mini Thailand Week จาการ์ตา อินโดนีเซีย เป็นต้น

นอกจากนี้กรมยังมีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการใช้ประโยชน์จากเออีซี โดยการพัฒนาศักยภาพ และเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการไทยแบบเข้มข้น ผ่านการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) และกิจกรรรมจับคู่ธุรกิจและสร้างเครือข่ายกับสภาธุรกิจต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน 9 แห่งใน 8 ประเทศจะให้คำปรึกษาแนะนำด้านการค้า/การตลาด อำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจไทย รวมทั้งประสานงานแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้ากับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น ตลอดจนจัดทำข้อมูลเชิงลึกด้านกฎระเบียบการค้าการลงทุนตลอดทั้งปี

วี-เซิร์ฟรุกมาเลย์-กัมพูชา

ด้านนายธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท วี-เซิร์ฟ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ และการค้า เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้ปรับกลยุทธ์เพื่อเตรียมรับกับ AEC มา 5 ปีแล้ว ทั้งการตั้งแผนกเออีซี และมีผู้จัดการแผนกเออีซีโดยเฉพาะ และมีสต๊าฟจากเวียดนาม เมียนมา และญี่ปุ่นเข้ามาร่วมงาน ขณะเดียวกันได้จัดตั้ง 2 บริษัทในเมียนมาเพื่อทำธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์และกระจายสินค้า และทำธุรกิจการค้า(เทรดดิ้งเฟิร์ม) โดยมีโชว์รูมขายปลีกสินค้าในเมียนมา ซึ่งขณะนี้ทั้งสองธุรกิจกำลังไปได้ดีและมีความเจริญก้าวหน้า

"ในปีนี้ทางกลุ่มจะเปิดสาขาสถานีเครือข่ายให้บริการโลจิสติกส์ที่เมืองปีนังของมาเลเซีย เพื่อให้บริการขนส่งตู้สินค้าจากสถานีสะเดา และปาดังเบซาร์ต่อไปถึงปีนัง เพราะในปีหนึ่งๆ ไทยมีสินค้าส่งไปที่ท่าเรือปีนังประมาณ 3 แสนตู้ ทั้งสินค้ายางพารา อาหารทะเล และอื่นๆ เพื่อส่งออกต่อไปยังจีน จากเดิมเราส่งแค่ชายแดนมาเลเซีย แล้วมีธุรกิจขนส่งของมาเลเซียมารับช่วงต่อไปที่ปีนัง ส่วนด้านกัมพูชา เราเตรียมตั้งสถานีที่อรัญประเทศเพื่อให้บริการขนส่งไปถึงกรุงพนมเปญ"

 แพรนด้าฯสะกิดคู่ค้าขยายสาขา

นางประพีร์ สรไกรกิติกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีตัวแทนเปิดร้านจำหน่ายในเวียดนาม มาเลเซีย และมีโรงงานผลิตในอินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งกำลังให้หุ้นส่วนในแต่ละประเทศทำการศึกษาว่าจะขยายในส่วนไหนเพิ่มเติมได้บ้าง เพราะจากที่เข้าสู่เออีซี ภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันของทั้ง 10 ประเทศได้ลดลงเป็น 0% จะทำให้การค้าระหว่างกันมีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจากการเปิดเออีซีจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยดีกว่าปี 2558

 ลุยขยายเสื้อผ้าแบรนด์ไทย

ขณะที่นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า สมาชิกของสมาคมได้เตรียมรุกตลาดอาเซียนหลังเป็นเออีซี ผ่าน 3 แผนงาน/กิจกรรมที่สำคัญ คือ 1.ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศโรดโชว์เสื้อผ้าแบรนด์ไทยในงาน Thailand Week และงานอื่นๆ ตลอดทั้งปีแบบเดือนเว้นเดือน ทั้งนี้เพื่อตอกย้ำเสื้อผ้าแบรนด์ไทยที่ได้รับความนิยมในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดส่งออก รวมถึงเพิ่มตัวแทนจำหน่ายในแต่ละประเทศให้มากขึ้น

2.จะจัดคณะไปดูช่องทางโอกาสในการขยายการลงทุนตั้งโรงงานให้เป็นรูปธรรมในเชิงลึกมากขึ้น โดยนัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านส่งเสริมการลงทุนของประเทศเพื่อบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม)มาให้ข้อมูล เพื่อช่วยขยายฐานการผลิตและการส่งออกของไทย และ 3.การพัฒนาศักยภาพให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการรับคำสั่งซื้อและเชื่อมโยงการขายวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์) ของต่างชาติที่ได้เข้าไปลงทุนในอาเซียน รวมถึงการเร่งพัฒนาการออกแบบเพื่อขยายศักยภาพการผลิตและการส่งออกของโรงงานในไทย

"แบรนด์เสื้อผ้าไทยได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในส่วนของบริษัทบลูพิน อินเตอร์เทรดที่เป็นผู้บริหารอยู่ก็มีแผนจะขยายตัวแทนจำหน่ายในเมียนมาที่ปัจจุบันมีแล้ว 10 สาขา ในเวียดนามและกัมพูชาที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นหาตัวแทนจำหน่ายเสื้อผ้าแบรนด์ Blue Corner รวมถึงมีแผนรุกในส่วนของการค้าออนไลน์ทั้งในไทยและในอาเซียน"

 ข้าวรอจังหวะลงทุน

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัทฮ่วยชวนค้าข้าว จำกัด และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในแง่ของอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงอุตสาหกรรมข้าวยังมีจำนวนน้อยที่เข้าไปลงทุนในกลุ่มอาเซียน เพราะส่วนใหญ่ยังมีการออกกฎระเบียบเพื่อปกป้องเกษตรกร และผู้ประกอบการในประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

"ฮ่วยชวนฯเคยคิดไปตั้งโรงสีที่กัมพูชา แต่เจอปัญหาเยอะทั้งใต้โต๊ะ ระบบสาธารณูปโภค ทั้งโลจิสติกส์ ไฟฟ้า ท่าเรือ ยังไม่สะดวก คำนวณต้นทุนออกมาแล้วก็ไม่ได้เปรียบไทยมากจึงพับโครงการ ซึ่งคงต้องรอให้ปัญหาอุปสรรคเหลานี้ได้รับการแก้ไขก่อนจึงจะพิจารณาอีกครั้ง แต่จากการเปิดเออีซีในปีนี้ในแง่การค้า คงมีการแข่งขันแย่งตลาดข้าวในอาเซียนระหว่างไทย เวียดนาม เมียนมา กัมพูชากันอย่างดุเดือดแน่"

 ธุรกิจแห่ขยายฐานระนอง

นางสุดาพร ยอดพินิจ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า การเข้าสู่เออีซี ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระนองหลายด้าน โดยเฉพาะการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน อีกทั้งคาดว่าระนองจะเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญทางตอนใต้ในการเดินทางเข้า-ออกประเทศเมียนมา ทำให้ผู้ประกอบการในหลายภาคส่วนเล็งเห็นช่องทางและโอกาสดังกล่าว จึงได้ขยายฐานธุรกิจเข้ามาในพื้นที่ เพื่อรับการขยายตัวที่จะเกิดขึ้น โดยที่เห็นชัดเจน คือ ในส่วนของธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ที่ขณะนี้มีผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีก ค้าส่งเข้ามาเปิดสาขาแล้ว ทั้งเทสโก้ โลตัส ,แม็คโคร และล่าสุดบิ๊กซี ก็เตรียมที่จะเปิดสาขา ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

 เชียงรายผนึกพม่ารุกท่องเที่ยว

นางสาวผกายมาศ เวียร์รา ประธานคณะกรรมการสาขาเชียงราย สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา และรองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า นักลงทุนหรือผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านการท่องเที่ยว มีแนวโน้มว่าจะเป็นกลุ่มทุนกลุ่มแรกๆที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในเมียนมา ซึ่งมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง โดยใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเรื่องการบริการและการบริหารของไทย ไปช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวในเมียนมา ซึ่งก็ตรงกับนโยบายของทางการเมียนมา ที่ต้องการให้นักธุรกิจไทยเข้าไปช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวของเมียนมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โอกาสจึงเปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ ในรัฐฉานที่ใกล้กับจังหวัดเชียงราย บนเส้นทาง R3b (ไทย-เมียนมา-จีน) ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่ยังไม่มีการลงทุนมากนัก แต่ว่าศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูงมาก

สอดคล้องกับดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ที่เปิดเผยในเรื่องเดียวกันนี้ว่า หลังจากเปิดเออีซี แน่นอนว่านักลงทุนหรือผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงราย ย่อมที่จะมองไปถึงการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาและสปป.ลาว ซึ่งจังหวัดเชียงรายมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 2 ชาติ ทำให้โอกาสที่เชียงรายจะกลายเป็นฮับการค้าการท่องเที่ยวมีความเป็นไปได้สูง

 ชี้ไทยคิดช้ากว่าจีน

ส่วนนางมนนิภา โกวิทย์ศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย และผู้ประกอบการธุรกิจไทย-ลาว รายใหญ่ของจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า แม้ว่าจะมีผลประโยชน์มากหลังการเปิดเออีซีก็ตาม แต่ก็มีข้อคิดว่า เราช้าไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป.ลาว หรือไม่ เพราะว่าที่นครเวียงจันทน์มีนักลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนก่อตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะในกรุงเวียงจันทน์ และรอบๆถึง 5 แห่ง โดยเฉพาะที่บริเวณบึงธาตุหลวง นักลงทุนจีนได้ใช้พื้นที่ประมาณ 2 พันไร่เศษตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษการท่องเที่ยว ในขณะที่ฝั่งไทยมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศาจังหวัดหนองคายเพียงแห่งเดียว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559